ความจำเป็นของการตรวจวัดแสงสว่าง

การตรวจวัดคุณภาพแสงสว่างในที่ทำงานจำเป็นอย่างไร มีกี่ประเภท

การปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย คุณภาพของสภาพแวดล้อมนับเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานอย่างมาก ดังนั้น กระบวนการประเมินและตรวจสอบสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงาน นอกจากจะช่วยพัฒนาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นด้วย

แต่นอกจากปัจจัยเรื่องอุณหภูมิ เสียงรบกวน และสภาพอากาศที่หลายคนมักคุ้นเคยแล้ว หนึ่งในปัจจัยที่มักถูกมองข้ามแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ “การตรวจวัดแสงสว่าง” ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพดวงตาและประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง ซึ่งในปัจจุบัน การตรวจวัดคุณภาพแสงสว่างมีอยู่หลายประเภท แต่แบบไหนที่ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับเหล่าพนักงานขณะปฏิบัติงานบ้าง ติดตามได้ในบทความนี้

การตรวจวัดแสงสว่างจำเป็นอย่างไร ?

แสงสว่างเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อการมองเห็นและการทำงานของมนุษย์ การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเกินไป ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงานทั้งสิ้น

  • ผลกระทบต่อสุขภาพตา เนื่องจากการทำงานภายใต้แสงสว่างที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าของดวงตา ปวดตา ตาพร่า หรือแม้กระทั่งเกิดปัญหาสายตาในระยะยาว
  • ความผิดพลาดในการทำงาน แสงสว่างที่ไม่เพียงพออาจนำไปสู่การมองเห็นที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการหยิบจับอุปกรณ์ หรือการอ่านข้อมูล โดยเฉพาะในงานที่ต้องการความแม่นยำสูง
  • ความปลอดภัยในการทำงาน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขณะทำงาน เช่น การสะดุด หรือชนกับสิ่งกีดขวาง เนื่องจากมีแสงสว่างไม่เพียงพอ
  • ผลกระทบทางจิตใจ การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างไม่เหมาะสมอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ ทำให้เกิดความเครียด หงุดหงิด หรือเบื่อหน่ายได้ง่าย
  • ประสิทธิภาพการทำงาน โดยแสงสว่างที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มความตื่นตัวและสมาธิในการทำงานให้ดีขึ้น

การตรวจวัดแสงสว่างจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถประเมินและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน

วิธีการตรวจวัดคุณภาพแสงสว่างมีกี่ประเภท ?

การเลือกใช้วิธีการวัดขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่และวัตถุประสงค์ของการตรวจวัด ซึ่งโดยทั่วไปการตรวจวัดคุณภาพแสงสว่างจะมีอยู่ 2 ประเภท ดังนี้

1. การวัดแบบจุด (Spot Measurement)

การวัดแบบจุดเป็นวิธีการวัดแสงสว่าง ณ จุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ เหมาะสำหรับการประเมินแสงสว่างในบางพื้น เช่น โต๊ะทำงาน เครื่องจักร หรือพื้นที่ที่ต้องการความแม่นยำในการมองเห็นสูง ซึ่งจะกำหนดจุดที่ต้องการวัด โดยพิจารณาจากจุดที่สายตากระทบชิ้นงาน หรือจุดที่ทำงานของคนงาน (Point of Work) เพื่อทำการตรวจวัด ดังนี้

  • วางเครื่องวัดแสง (Light Meter) ในตำแหน่งที่ต้องการวัด โดยให้เซนเซอร์รับแสงอยู่ในระนาบเดียวกับพื้นที่ทำงาน
  • อ่านค่าความเข้มแสงที่วัดได้ (หน่วยเป็นลักซ์ หรือ Lux)
  • บันทึกผลการวัดและเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่กำหนด*

 

2. การวัดแสงเฉลี่ยแบบพื้นที่ทั่วไป (Area Measurement)

การวัดแสงประเภทนี้ จะใช้สำหรับประเมินแสงสว่างโดยรวมของพื้นที่ทำงานขนาดใหญ่ เช่น ทางเดิน ห้องทำงาน หรือพื้นที่ส่วนกลาง โดยมีขั้นตอนการวัดแบบพื้นที่ ดังนี้

  • แบ่งพื้นที่ออกเป็นตารางย่อย ขนาดเท่า ๆ กัน
  • วัดความเข้มแสงที่จุดตัดของเส้นตาราง
  • คำนวณค่าเฉลี่ยของความเข้มแสงทั้งหมด
  • เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยที่ได้กับมาตรฐานที่กำหนด*

*ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง ในปี พ.ศ. 2559 จากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

การตรวจวัดคุณภาพแสงสว่าง มี 2 ประเภทหลัก

การควบคุมและป้องกันอันตรายจากแสงสว่าง

การจัดการแสงสว่างในที่ทำงาน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันอันตรายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ต่อไปนี้คือวิธีการควบคุมและป้องกันที่สำคัญ

  • การจัดการแหล่งแสงเพื่อกำหนดแสงสว่างให้เหมาะสม
    • การเลือกหลอดไฟที่เหมาะสม โดยใช้หลอดไฟที่ให้แสงสว่างเพียงพอและมีสีที่เหมาะสมกับลักษณะงาน
    • การติดตั้งไฟในตำแหน่งที่เหมาะสม จัดวางดวงไฟให้แสงกระจายทั่วถึงและไม่เกิดเงาบนพื้นที่ทำงาน
    • การใช้แสงธรรมชาติ ออกแบบพื้นที่ทำงานให้รับแสงธรรมชาติได้มากที่สุด แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดแสงจ้าหรือความร้อนมากเกินไป
  • แสงสว่างที่ควรหลีกเลี่ยง
    • แสงจ้า (Glare) ลดแสงจ้าโดยใช้ม่านบังแดด ฟิล์มกรองแสง หรือปรับตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์
    • แสงกะพริบ (Flicker) หลีกเลี่ยงการใช้หลอดไฟที่เกิดการกะพริบ เพราะอาจก่อให้เกิดอาการปวดหัวหรือเวียนศีรษะได้
    • ลดความแตกต่างของความสว่างระหว่างพื้นที่ทำงานและพื้นที่โดยรอบ เพื่อลดความเครียดของดวงตา
  • การบำรุงรักษาแหล่งแสงสว่างให้เหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน
    • การทำความสะอาดอุปกรณ์ให้แสงสว่าง โดยทำความสะอาดหลอดไฟและโคมไฟเป็นประจำ เพื่อรักษาประสิทธิภาพการให้แสงสว่าง
    • การเปลี่ยนหลอดไฟตามกำหนด เมื่อหมดอายุการใช้งาน หรือมีประสิทธิภาพลดลง
    • การตรวจสอบและซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

สร้างสภาพแวดล้อมให้สว่าง ปลอดภัย เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยบริการตรวจวัดแสงสว่างกับ Health & Envitech ที่ให้บริการตรวจวัดด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัยแบบครบวงจร โดยกระบวนการตรวจวัดคุณภาพในด้านต่าง ๆ และการเก็บตัวอย่างจะดำเนินการโดยมืออาชีพ อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐาน รวมถึงบริการให้คำปรึกษาการติดตามมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย สนใจรับคำปรึกษาหรือข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ 0-2952-6305-9, LINE Official https://lin.ee/5oJIwdk หรืออีเมล service@healthenvi.com

ข้อมูลอ้างอิง

  1. เรียนรู้เกี่ยวกับ : การตรวจวัดแสงสว่างในพื้นที่การทำงาน มาตรฐานใหม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.jorportoday.com/measurement-of-light/