สารมลพิษทางอากาศคืออะไร และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร?

สารมลพิษทางอากาศคืออะไร และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร?

แนวทางป้องกันมลพิษทางอากาศ มีอะไรบ้าง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะในมุมหนึ่งสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันได้ แต่ในทางกลับกันก็เป็นเสมือนการปล่อยมัจจุราชล่องหน ให้ออกมาแอบแฝงอยู่รอบ ๆ ตัวเราทุกคน โดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็น แต่พอรู้ตัวอีกทีก็อาจไม่ทันการณ์แล้ว

ชื่อของมัจจุราชล่องหนตนนั้นคือ ‘มลพิษทางอากาศ’ หรือ ‘มลภาวะทางอากาศ’ ที่ถึงแม้จะมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ผลกระทบที่พวกเราได้รับกลับร้ายแรงเกินคาด ซึ่งความน่ากลัวของมลพิษเหล่านี้ คือการสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ และหากร่างกายของเราสะสมเข้าไปเรื่อย ๆ โรคร้ายต่าง ๆ อาจถามหาได้
ดังนั้นก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ การลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศจึงเป็นสิ่งที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญ เพื่อร่วมกันไปให้ถึงจุดนั้น บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักว่ามลพิษทางอากาศคืออะไร มลพิษมีอะไรบ้าง แล้วเราควรมีวิธีป้องกันมันได้อย่างไร

มลพิษทางอากาศคืออะไร?

ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) มลพิษทางอากาศหรือ Air Pollution คือการปนเปื้อนของสภาพแวดล้อม ทั้งในร่มและกลางแจ้งโดยสารเคมี หรือสารชีวภาพใด ๆ ซึ่งปรับเปลี่ยนลักษณะทางธรรมชาติของบรรยากาศในบริเวณดังกล่าวให้มีความเป็นพิษสูงขึ้น กลายเป็นปัญหาทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ 

หากถามว่ามลพิษมีอะไรบ้าง? คงยากที่จะสรุปตอบภายในหนึ่งประโยค เนื่องจากแหล่งกำเนิดของสารมลพิษทางอากาศมีมากมายหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้ในครัวเรือน การสันดาปยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และไฟป่า โดยสิ่งเหล่านี้จะปล่อยก๊าซที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ กลายเป็นมลภาวะทางอากาศที่ส่งผลกระทบมากมายนานัปการ

สถานการณ์ปัญหาทางอากาศเปื้อนมลพิษเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และกำลังเลวร้ายลงทุกวัน ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน วิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนในเรื่องนี้ โดยข้อมูลเชิงสถิติพบว่า ในปีพุทธศักราช 2564 ค่าเฉลี่ยความเป็นพิษของอากาศในประเทศไทยมีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ที่ 21 มคก./ลบ.ม. ฝุ่นละออง PM10 อยู่ที่ 40 มคก./ลบ.ม. ซึ่งถือว่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก นี่จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ

รู้หรือไม่?

เกณฑ์ค่า PM2.5 ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเอาไว้ไม่ควรเกิน 15 มคก./ลบ.ม.

เกณฑ์ค่า PM10 ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเอาไว้ไม่ควรเกิน 45 มคก./ลบ.ม.

มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่มนุษย์ สัตว์ พืช และทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้แผ่เป็นวงกว้างและแทรกซึมอยู่แทบจะทุกที่ไปแล้ว

สำหรับมนุษย์ ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องของสุขภาพ โดยสารมลพิษทางอากาศจะค่อย ๆ แทรกซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทุกลมหายใจเข้าออก และเมื่อได้รับในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้เกิดโรคร้ายอย่าง โรคปอดบวม หลอดลมอักเสบ ระคายเคืองที่จมูก คอ ตา ผิวหนัง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และคลื่นไส้

และหากได้รับสารมลพิษทางอากาศติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี ยังอาจทำให้เกิดโรคหัวใจ มะเร็งปอด และโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ถุงลมโป่งพองได้เช่นกัน รวมถึงยังสามารถก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวต่อระบบเส้นประสาท สมอง ไต ตับ และอวัยวะอื่น ๆ โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเกือบ 2.5 ล้านคนทั่วโลก โซึ่งมีต้นเหตุจากปัญหาทางอากาศ

แน่นอนว่ามนุษย์ไม่ใช่เผ่าพันธุ์เดียวที่ได้รับผลกระทบ แต่สัตว์ พืช และระบบนิเวศทั้งหมดก็ต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้เช่นกัน โดยอนุภาคของสารมลพิษทางอากาศจะตกลงสู่พื้นโลก จากนั้นจะปนเปื้อนสู่น้ำและดิน ทำให้พืชผลที่อยู่ในบริเวณนั้นตายในที่สุด

ขณะที่อนุภาคซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ เมื่อรวมตัวกันในอากาศ จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าฝนกรด และเมื่อฝนกรดตกลงสู่พื้นโลก ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศหลายประการ เช่น คุณภาพน้ำในแม่น้ำ ทะเลสาบ และลำธารเสื่อมโทรม ส่งผลให้พืชผลได้รับความเสียหาย

สุดท้าย ผลกระทบร้ายแรงที่สุดที่เกิดจากสารมลพิษทางอากาศก็คือ ‘ภาวะโลกร้อน’ ซึ่งหมายถึงภาวะที่อุณหภูมิอากาศและมหาสมุทรสูงขึ้นทั่วโลก น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ตามด้วยภัยพิบัติธรรมชาติมากมาย สาเหตุเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และก๊าซฟลูออรีน แน่นอนว่าตำแหน่งแชมป์ผู้ปล่อยก๊าซเหล่านี้มากที่สุดก็คือ มนุษย์

Air Pollution คืออะไร ป้องกันอย่างไร

วิธีลดและป้องกันมลพิษทางอากาศ

ถึงตรงนี้ ทุกคนน่าจะทราบแล้วว่ามลพิษทางอากาศหรือ Air Pollution คืออะไร มลพิษมีอะไรบ้าง และมีผลกระทบร้ายแรงแค่ไหน ดังนั้นก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป หนทางเดียวที่จะหยุดยั้งได้คือการร่วมมือกันป้องกัน และลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ

สำหรับคนธรรมดา อย่าเพิ่งด่วนสรุปไปว่าคงช่วยอะไรไม่ได้กับปัญหาที่ใหญ่หลวงเช่นนี้ เพราะจริง ๆ แล้วทุกคนสามารถลดการปล่อยสารมลพิษทางอากาศได้ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันบางอย่างเท่านั้น เช่น ลดการกินเนื้อสัตว์ ใช้เสื้อผ้ามือสอง ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ลดการเปิดแอร์ เป็นต้น

จากบุคคลขยับมาสู่ภาคอุตสาหกรรมกันบ้าง เพราะอาจพูดได้ว่าเป็นตัวการสำคัญ ซึ่งฝ่ายนี้ก็สามารถลดการปล่อยมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้เช่นกัน ด้วยการให้ความสำคัญกับการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อนำมาประเมินว่าอากาศที่ปล่อยออกมามีค่าความเป็นพิษเกินเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงมาตรฐานของโรงงานในขั้นต่อไป

เราคือ Health & Envitech ผู้ให้บริการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ถูกต้องตามหลักวิชาการ วิเคราะห์ผลการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน พร้อมให้คำปรึกษาและติดตามมาตรการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยทีมงานมืออาชีพมากประสบการณ์ เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้มากที่สุด