30 ก.ย. มลพิษทางอากาศมีอะไรบ้าง ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร ?
ทุกคนย่อมตระหนักกันดีอยู่แล้วว่า ‘อากาศ’ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต เพราะมีก๊าซออกซิเจนที่จำเป็นต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ในปัจจุบันอากาศไม่ได้มาพร้อมกับประโยชน์ต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังเจือปนไปด้วยมลพิษมากมาย ที่พร้อมทำร้ายสุขภาพของเราได้ตลอดเวลา
ในบทความนี้ จะมาสร้างความตระหนักรู้ เกี่ยวกับอันตรายของมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันตัวเองได้อย่างเหมาะสม
5 มลพิษในอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
อากาศที่มีมลพิษ หากได้รับเข้าไปมาก ๆ จะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและอวัยวะต่าง ๆ เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่จะมาในลักษณะเหล่านี้
ฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10
มาเริ่มกันที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้ง PM2.5 และ PM10 ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศตัวร้ายที่หลายคนคงคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เพราะได้รับความสนใจมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น
PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในขณะที่ PM10 มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอน ซึ่งฝุ่นละอองทั้ง 2 ชนิด สามารถลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน และสามารถแทรกซึมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเราได้อย่างง่ายดาย จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพเหล่านี้
- ระคายเคืองตา จมูก และลำคอ
- ไอ หายใจลำบาก และหอบหืด
- ลดประสิทธิภาพการทำงานของปอด
- เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
- เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด หากได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ก๊าซโอโซน
ถึงแม้ว่าโอโซนบนชั้นบรรยากาศ จะมีความสำคัญในการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต ไม่ให้ทะลุผ่านลงมายังพื้นผิวโลกโดยตรง แต่โอโซนที่อยู่ใกล้พื้นผิวโลกนั้น เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างออกซิเจนกับสารมลพิษอื่น ๆ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์และสารอินทรีย์ระเหยง่าย ที่เป็นอันตรายและส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ โดยก่อให้เกิดอาการ ดังนี้
- ไอและหายใจลำบาก
- ระคายเคืองต่อคอ จมูก และตา
- เพิ่มความรุนแรงของโรคหอบหืด
- ปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์
ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นอีกหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่พบได้บ่อยในเมืองใหญ่ โดยมีแหล่งกำเนิดหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล และถ่านหิน มักพบได้มากในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น รวมถึงย่านอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้
- ทำให้เกิดการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจ
- เพิ่มความไวต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ
- กระตุ้นอาการหอบหืด
- ลดสมรรถภาพการทำงานของปอด
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นก๊าซที่ไม่มีทั้งสีและกลิ่น แต่กลับส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงในยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม ก่อให้อันตรายต่อร่างกาย ดังนี้
อาการในระดับปานกลาง
- อาการวิงเวียนศีรษะ และปวดหัว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกเหนื่อยล้า หายใจถี่
อาการในระดับรุนแรง ต้องรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
- การประสานงานของกล้ามเนื้อบกพร่อง
- ความสับสนทางจิต หรือสูญเสียสติ
แอมโมเนีย
แอมโมเนีย คืออีกหนึ่งมลพิษที่มีอยู่ได้ทั่วไปในอากาศ ซึ่งเป็นก๊าซที่มีกลิ่นฉุน มักพบได้มากในอุตสาหกรรม เช่น การผลิตปุ๋ย การใช้สารเคมีในการเกษตร และในกระบวนการทำความสะอาด รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าหากร่างกายสูดดมแอมโมเนียเข้าไปในปริมาณมาก จะส่งผลดังต่อไปนี้
- หากสัมผัสจะแสบคันและระคายเคืองผิวหนัง
- แสบตา ตาบวม น้ำตาไหล
- เวียนหัว อาเจียน
- ในระยะยาวเสี่ยงที่ปอดจะทำงานผิดปกติได้
มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราอย่างร้ายแรง การตระหนักถึงอันตรายและพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับมลพิษ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะองค์กรและสถานประกอบการที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับสารเคมีอันตราย หรือมีการเผาไหม้เชื้อเพลิง จำเป็นต้องตรวจสอบคุณภาพอากาศในสถานที่ปฏิบัติงานเป็นประจำ เพื่อการหาแนวทางบำบัดและป้องกันได้อย่างเหมาะสม
ที่ Health & Envitech มีบริการตรวจคุณภาพอากาศ โดยดำเนินการเก็บตัวอย่างและนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพอากาศภายในอาคารของคุณอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
สนใจรับคำปรึกษาหรือข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ 0-2952-6305-9, LINE Official https://lin.ee/5oJIwdk หรืออีเมล service@healthenvi.com
ข้อมูลอ้างอิง
- 6 มลพิษในอากาศที่อันตราย!ต่อชาวโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 จาก https://siamrath.co.th/n/203514
- มลพิษในอากาศสร้างปัญหาสุขภาพ. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 จาก https://www.phyathai.com/th/article/2929-มลพิษในอากาศสร้างปัญห