07 ม.ค. อันตรายจาก ‘ดินปนเปื้อน’ กระทบชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ดินปนเปื้อน เป็นหนึ่งในปัญหาที่มักถูกละเลยในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริง ดินที่ไม่ได้มาตรฐานอาจแฝงไปด้วยอันตรายมากมายที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของพนักงาน และความปลอดภัยในกระบวนการผลิต การตรวจสอบคุณภาพดินอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
สารปนเปื้อนในดินที่ต้องระวัง
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสารปนเปื้อนที่อาจพบในดินที่อยู่ในบริเวณโรงงานอุตสาหกรรม ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันอันตรายจากดินปนเปื้อนตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยสารปนเปื้อนที่พบบ่อย แบ่งเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้
1. โลหะหนัก
โลหะหนักหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม เป็นสารที่มักพบในดินบริเวณโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสารเหล่านี้อาจมาจากกระบวนการผลิตหรือของเสียที่ถูกปล่อยลงสู่ดิน และถ้าหากเกิดการสะสมของโลหะหนักในดินเป็นเวลานาน ยังจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ในระดับที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
2. สารเคมีอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)
VOCs เป็นสารเคมีที่สามารถระเหยกลายเป็นไอได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง มักพบในโรงงานที่ใช้ตัวทำละลาย เช่น โรงงานผลิตสี ยาง หรือพลาสติก สารเหล่านี้สามารถซึมลงสู่ดินและน้ำใต้ดิน ทำให้เกิดการปนเปื้อนที่ยากต่อการกำจัดในระยะยาว
3. สารเคมีตกค้างจากการผลิต
สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต อย่างน้ำมันหล่อลื่น สารกำจัดศัตรูพืช หรือแม้กระทั่งสารทำความสะอาด หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม อาจรั่วไหลลงสู่ดิน ทำให้เกิดการปนเปื้อนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
4. สารกัมมันตรังสี
สารกัมมันตรังสี เป็นหนึ่งในสารปนเปื้อนที่อาจพบได้ในดิน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์ การทำเหมืองแร่ยูเรเนียม หรือการผลิตวัสดุกัมมันตรังสีสำหรับงานทางการแพทย์และอุตสาหกรรม หากสะสมในร่างกายปริมาณมาก จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงได้
อันตรายจากดินปนเปื้อนที่ไม่ควรมองข้าม
ดินปนเปื้อนสารพิษมีผลกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม รวมถึงความยั่งยืนของอุตสาหกรรมและชุมชนใกล้เคียงมากกว่าที่คิด ซึ่งผลกระทบแต่ละด้าน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ผลกระทบต่อสุขภาพ
- การสัมผัสโดยตรง มักพบในกลุ่มคนที่ทำงานหรืออยู่อาศัยในบริเวณที่มีดินปนเปื้อน ได้แก่ พนักงานโรงงาน และชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง เมื่อสัมผัสดินโดยตรง จะก่อให้เกิดความระคายเคืองผิวหนัง การแพ้ หรือการสะสมของสารพิษในร่างกาย
- การสูดดมฝุ่นดิน ส่งผลให้ฝุ่นที่เกิดจากดินปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก สาร VOCs อาจเข้าสู่ปอดและระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบ หรือโรคหอบหืด
- การบริโภคน้ำและอาหารที่ปนเปื้อน เพราะสารปนเปื้อนในดินสามารถซึมลงไปในน้ำใต้ดินหรือแพร่กระจายเข้าสู่พืชที่ปลูกในพื้นที่ ทำให้อาหารหรือน้ำมีสารพิษสะสม เมื่อมนุษย์บริโภคเข้าไปในระยะยาว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง ตับอักเสบ โรคไต
2. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- การปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการบริโภคและการเกษตร ส่งผลเสียในระยะยาว อีกทั้งการฟื้นฟูน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนยังเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและต้นทุนสูงด้วย
- การเสื่อมสภาพของระบบนิเวศ ดินที่มีสารปนเปื้อนสูงอาจทำให้พืชไม่สามารถเติบโตได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศและวงจรอาหาร
3. ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
- สารเคมีติดไฟและระเบิดได้ ดินที่ปนเปื้อนด้วย VOCs หรือสารเคมีอินทรีย์บางชนิดมีความเสี่ยงต่อการติดไฟหรือระเบิดเมื่อสัมผัสกับความร้อนหรืออากาศ ทั้งยังเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
- การแพร่กระจายของมลพิษ ดินปนเปื้อนสามารถแพร่กระจายผ่านทางลม ฝุ่น หรือการขนย้าย ทำให้พื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนเพิ่มขึ้น
ข้อบังคับเกี่ยวกับการตรวจคุณภาพดินที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องรู้
เพื่อป้องกันอันตรายและผลกระทบในทุกด้าน การตรวจสอบคุณภาพดินอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยในประเทศไทย กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีดังนี้
พระราชบัญญัติการควบคุมมลพิษ พ.ศ. 2535
กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้โรงงานต้องตรวจสอบและจัดการการปนเปื้อนที่อาจเกิดจากกิจกรรมการผลิต เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
กฎกระทรวงควบคุมการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน พ.ศ. 2559
กำหนดเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน รวมถึงวิธีการตรวจสอบและรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้เพื่อควบคุมการปนเปื้อนภายในบริเวณโรงงาน
มาตรฐานสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม
เป็นตัวควบคุมค่ามาตรฐานของสารปนเปื้อนต่าง ๆ ในดิน เช่น โลหะหนัก และสารเคมีอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการปนเปื้อนไม่เกินระดับที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ข้อกำหนดเฉพาะของอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมบางประเภทอาจมีข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับการตรวจสอบและควบคุมการปนเปื้อนในดิน เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่ต้องตรวจสอบ VOCs ในดินอย่างเคร่งครัด
อย่าปล่อยให้ปัญหาดินปนเปื้อนเป็นภัยเงียบที่ทำลายทั้งธุรกิจของคุณและสิ่งแวดล้อม เลือกใช้บริการตรวจสอบคุณภาพดินที่ได้มาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญโดย Health & Envitech เพื่อลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่โรงงานของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ สนใจรับคำปรึกษาหรือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจดิน ติดต่อ 0-2952-6305-9, LINE Official https://lin.ee/5oJIwdk หรืออีเมล service@healthenvi.com
ข้อมูลอ้างอิง:
- กฎกระทรวง ควบคุมการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 จาก https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/038/89.PDF