07 ม.ค. ค่า VOC คืออะไร ? ทำไมต้องควบคุมค่าให้ได้มาตรฐาน
รู้หรือไม่ว่า โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักพบกับสารเคมีในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือ สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งมีอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน หรือโรงงานอุตสาหกรรม การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ VOCs จึงเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหากไม่รีบจัดการอย่างเหมาะสม
สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) คืออะไร ?
สารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ Volatile Organic Compounds คือสารอินทรีย์ที่สามารถระเหยกลายเป็นไอในอุณหภูมิและความดันปกติได้ง่าย มีคุณสมบัติที่สามารถกระจายตัวไปในอากาศและเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านการหายใจ หรือการสัมผัส แล้วสารอินทรีย์ระเหยง่ายมีชนิดใดบ้าง สามารถแบ่งประเภทจากแหล่งที่มาได้ ดังนี้
- Non-halogenated Hydrocarbons พบได้ในผลิตภัณฑ์ทั่วไป เช่น สีน้ำมัน น้ำยาทำความสะอาด
- Halogenated Hydrocarbons จากกระบวนการในอุตสาหกรรม เช่น การล้างชิ้นส่วนโลหะ
ผลกระทบของ VOCs
หาก VOCs มีค่าเกินมาตรฐานควบคุม จะเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้
ผลกระทบต่อสุขภาพ
สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) มีศักยภาพในการส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขึ้นอยู่กับระดับการสัมผัส ความเข้มข้นของสาร และระยะเวลาที่ได้รับสาร โดยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อค่า VOCs เกินค่าควบคุมมาตรฐาน คือ
- ระยะสั้น (Acute Effects)
-
- การระคายเคือง ต่อดวงตา จมูก ลำคอ หากสัมผัสในระดับความเข้มข้นสูง หรืออยู่ในพื้นที่ปิด เช่น โรงงานอุตสาหกรรมหรือห้องที่ระบายอากาศไม่ดี
- ระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดอาการหายใจลำบาก และอาจกระตุ้นอาการของโรคทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หรือภูมิแพ้
- ระบบประสาทส่วนกลาง โดย VOCs เช่น ไตรคลอโรเอทิลีน (Trichloroethylene) และเบนซีน อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ และปวดหัว
- ระยะยาว (Chronic Effects)
-
- มะเร็ง หากได้รับ VOCs บางชนิด เช่น เบนซีน (Benzene) และฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ในระยะยาว อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) และมะเร็งชนิดอื่น
- ผลกระทบต่ออวัยวะ การสัมผัส VOCs เป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ไต และระบบประสาท โดยเฉพาะในผู้ที่ทำงานในโรงงานที่ใช้สารเคมี
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
VOCs ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในหลายด้าน
- การเกิดโอโซนระดับพื้นดิน (Ground-Level Ozone)
เมื่อ VOCs รวมตัวกับไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และได้รับแสงแดด จะเกิดโอโซนที่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเหล่าพืชพรรณ
- มลพิษทางอากาศ (Air Pollution)
VOCs ที่ปล่อยมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ หรือการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้คุณภาพอากาศลดลง และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการปล่อย VOCs ในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เกิดฝนกรด ซึ่งทำลายดิน น้ำ และสิ่งมีชีวิต
- ผลกระทบต่อระบบนิเวศ (Ecosystem Impact)
การเพิ่มขึ้นของโอโซนพื้นดิน ทำให้พืชลดการสังเคราะห์แสง ส่งผลต่อการเติบโตและการผลิตอาหารในพืชผลทางการเกษตร อีกทั้ง VOCs ที่รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำ ยังจะเกิดการสะสมและทำลายระบบนิเวศของสัตว์น้ำ เช่น ปลาและพืชน้ำ
มาตรฐานและค่าควบคุมของ VOCs
ตามประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในปี 2550 กรมควบคุมมลพิษของไทยได้กำหนดมาตรฐานควบคุมค่าสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) ไว้ดังนี้
มาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไป ในเวลา 1 ปี
สารมลพิษ | ค่ามาตรฐาน (μg/m³) |
เบนซีน (Benzene) | 1.7 |
ไวนิลคลอไรด์ (Vinyl Chloride) | 10.0 |
1,2-ไดคลอโรอีเทน (1,2-Dichloroethane) | 0.4 |
ไตรคลอโรเอทธิลีน (Trichloroethylene) | 23.0 |
ไดคลอโรมีเทน (Dichloromethane) | 22.0 |
1,2-ไดคลอโรโพรเพน (1,2-Dichloropropane) | 4.0 |
เตตระคลอโรเอทธิลีน (Tetrachloroethylene) | 200.0 |
คลอโรฟอร์ม (Chloroform) | 0.43 |
1,3-บิวทาไดอีน (1,3-Butadiene) | 0.33 |
ค่าเฝ้าระวังสำหรับสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไป ในเวลา 24 ชั่วโมง
สารมลพิษ | ค่าเฝ้าระวัง (μg/m³) |
Acetaldehyde | 860 |
Acrylonitrile | 10 |
Benzene | 7.6 |
Benzyl Chloride | 12 |
1,3-Butadiene | 5.3 |
Bromomethane | 190 |
Carbon Tetrachloride | 150 |
Chloroform | 57 |
1,2-Dibromoethane | 370 |
1,4-Dichlorobenzene | 1100 |
1,2-Dichloroethane | 48 |
Dichloromethane | 210 |
1,2-Dichloropropane | 82 |
1,4-Dioxane | 860 |
2-Propenal/acrolein | 0.55 |
Tetrachloroethylene | 400 |
1,1,2,2-Tetrachloroethane | 83 |
Trichloroethylene | 130 |
Vinyl Chloride | 20 |
วิธีการตรวจวัดค่า VOCs
เนื่องจากสาร VOCs ในอากาศสามารถเปลี่ยนแปลงได้บ่อย การตรวจวัดสาร VOCs จึงต้องทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตาม ควบคุมมลพิษ และประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเครื่องมือและเทคนิคที่ใช้ในการตรวจค่า VOCs คือ
Gas Chromatography (GC) ใช้แยกและวิเคราะห์ VOCs อย่างแม่นยำ
Gas Chromatography (GC) เป็นเทคนิคที่ใช้แยกส่วนประกอบในตัวอย่างที่มีสารระเหย เช่น VOCs โดยการส่งตัวอย่างผ่านคอลัมน์ที่มีวัสดุปิดผิวที่สามารถแยกสารตามคุณสมบัติ เช่น ความสามารถในการดูดซับ หรือระเหยจากวัสดุ ก๊าซที่ผ่านไปจะถูกตรวจวัดโดยเครื่องมือที่เรียกว่า Detector ซึ่งจะช่วยให้สามารถระบุชนิดและปริมาณของ VOCs ในตัวอย่างได้
เครื่องวัดแบบพกพา (Portable VOC Detector) เหมาะสำหรับการตรวจวัดในสถานที่จริง
Portable VOC Detector เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจวัดระดับ VOCs ในสภาพแวดล้อมจริงได้ เช่น ในโรงงาน ออฟฟิศ หรือพื้นที่ที่มีการใช้งานสารเคมี โดยจะใช้เซนเซอร์ที่สามารถตรวจจับและวัดปริมาณของ VOCs ในอากาศได้อย่างรวดเร็ว
Health & Envitech บริการจัดการ VOCs เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) เป็นสารที่มีผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ VOCs และการปฏิบัติตามมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากต้องการตรวจวัดค่า VOCs และปรับปรุงคุณภาพอากาศให้เป็นไปตามค่ามาตรฐานสารอินทรีย์ระเหยง่าย โดย Health & Envitech ให้บริการตรวจวัด VOCs และสารเคมีในโรงงานอย่างครบวงจร พร้อมวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน และให้คำปรึกษาเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ สนใจรับคำปรึกษาหรือข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ 0-2952-6305-9, LINE Official https://lin.ee/5oJIwdk หรืออีเมล service@healthenvi.com
ข้อมูลอ้างอิง:
- แนวทางการจัดการสารอินทรีย์ระเหย. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 จาก http://hawk.diw.go.th/eis/content/dl/20160209100216.pdf