02 พ.ค. ต้นเหตุ ผลกระทบ และวิธีการลดขยะในทะเล
โรงงานอุตสาหกรรม อีกหนึ่งต้นเหตุของสารปนเปื้อนและปัญหาขยะในทะเล ที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสร้างปัญหามลพิษทางน้ำจนส่งผลเสียมากมายไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษข้ามถิ่น การสูญพันธ์ุของสัตว์ทะเลหายาก แนวปะการังถูกทำลาย รวมทั้งสัตว์ทะเลที่ได้รับบาดเจ็บและตายจากขยะที่ถูกทิ้งลงทะเลอย่างนับไม่ถ้วน นำไปสู่ผลกระทบต่อระบบนิเวศที่อาจย้อนมาสร้างอันตรายให้กับมนุษย์ได้ในอนาคต
วันนี้เราจะไปเจาะลึกกันว่า มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐานจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อท้องทะเลอย่างไร และนอกเหนือจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ขยะในทะเลมีต้นทางมาจากไหน แล้วเราจะมีวิธีแก้ปัญหาขยะทะเลได้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ส่งผลดีต่อทะเล มนุษย์ และโลกของเราในระยะยาว
ผลกระทบจากมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมต่อทะเล
เป็นที่ทราบกันดีว่ามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม หากมีการจัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมได้ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางเสียงจากเครื่องจักร หรือเครื่องยนต์ที่ปล่อยมลพิษสู่ทางอากาศ ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิต รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก และ “ทะเล” ก็เป็นหนึ่งในสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษเหล่านี้โดยตรง ซึ่งหากจะเจาะลึกถึงผลกระทบจากมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีต่อทะเล สามารถจำแนกออกเป็น 6 เรื่องหลักด้วยกัน ดังนี้
1. สารปรอทจากการเผาไหม้ในอุตสาหกรรม
การเผาไหม้ของถ่านหินในโรงงานอุตสากรรมเป็นสาเหตุหลักของการเกิดสารปรอท ซึ่งจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและถูกชะล้างลงสู่ทะเล ส่งผลให้ปริมาณสารปรอทในทะเลเพิ่มมากขึ้น โดยสารชนิดนี้มักสะสมอยู่ในปลานักล่า เช่น ปลาทูน่า ปลาอินทรี หากหญิงตั้งครรภ์รับประทานเข้าไป อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของทารก เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นและออทิสติกได้
2. การรั่วไหลของน้ำมันปิโตรเลียม
น้ำมันปิโตรเลียมที่รั่วไหลจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอันตรายต่อจุลินทรีย์ที่อยู่ในทะเล อีกทั้งยังจะไปขัดขวางการถ่ายเทออกซิเจนระหว่างอากาศและน้ำ ทำให้เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล และส่งผลต่อการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำอีกด้วย
3. การปนเปื้อนของโลหะหนัก
ของเสียจากโรงงานบางประเภท เช่น โรงงานทำพลาสติก โรงงานผลิตคลอรีน โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า มักมีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่หลายชนิด ทั้งตะกั่ว ทองแดง แคดเมียม สังกะสี เหล็ก ซึ่งสามารถสะสมในสัตว์น้ำและถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหารได้ ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค
4. อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น
น้ำหล่อเย็นที่ถูกปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่ทะเลมักมีอุณหภูมิที่สูงกว่าน้ำทะเล ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเมตาบอลิซึมของสัตว์ทะเล เช่น การหายใจ การกินอาหาร รวมถึงการวางไข่ ส่งผลให้สัตว์ทะเลอพยพไปอยู่บริเวณอื่น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้
5. สารโพลีเต็ดไบฟีนิล (PCBs) ตกค้างในทะเล
สารโพลีเต็ดไบฟีนิลหรือ PCBs เป็นสารที่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น ไฟฟ้า พลาสติก สี จัดเป็นสารเคมีทางอุตสาหกรรมและสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง หากสัมผัสจะทำให้มีอาการระคายเคืองตา ปวดศีรษะ เซื่องซึม เจ็บคอ และหากหญิงตั้งครรภ์ได้รับสาร PCBs จะทำให้ทารกมีน้ำหนักน้อยและเม็ดสีในร่างกายผิดปกติ
6. ปริมาณขยะในทะเลที่เพิ่มขึ้น
ในโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท ย่อมต้องมีขยะที่เกิดจากกระบวนการต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งขยะพลาสติก ขยะมูลฝอย และขยะอื่น ๆ ซึ่งขยะเหล่านั้น ส่วนหนึ่งต้องถูกกำจัดโดยการนำไปทิ้งลงทะเล ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ส่งผลต่อสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อมโดยรวมในระยะยาว
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ ทางภาครัฐจึงมีการออกกฎหมาย เพื่อเป็นการกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งต้องตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากทางโรงงานอุตสาหกรรมใช้บริการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานเป็นประจำทุกปี ก็จะช่วยลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบด้วยนั่นเอง
ต้นทางของปัญหาขยะในทะเล
นอกเหนือจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ขยะในทะเลยังมีต้นทางมาจากของเหลือใช้จากชุมชนใกล้ทะเล และสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ชายฝั่ง ยิ่งทะเลกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมมากเท่าไหร่ ขยะบริเวณชายฝั่งก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งการจัดการขยะบนบกที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้ขยะในทะเลเพิ่มขึ้นด้วยได้เช่นกัน ซึ่งเราสามารถพูดได้เต็มปากว่าขยะทะเลที่เกิดขึ้นส่วนมาก ล้วนเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์แทบทั้งสิ้น
และขยะที่อันตรายต่อสัตว์ทะเลมากที่สุดคงหนีไม่พ้นพลาสติก วัสดุยอดนิยมของมนุษย์ เพราะสัตว์ทะเลจำนวนมากคิดว่าพลาสติกเป็นอาหาร เมื่อกินเข้าไปจึงส่งผลให้สัตว์น้ำเหล่านั้นตายในที่สุด ซึ่งหากปล่อยไว้ ไม่ร่วมมือกันลดขยะทะเลอย่างถูกวิธี ย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและโลกของเราในระยะยาวอย่างแน่นอน
วิธีลดการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล
เมื่อทราบกันแล้วว่าโรงงานอุตสาหกรรมไม่ใช่สาเหตุเดียวของปัญหาขยะในทะเล การจะกำจัดขยะทะเลต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงพวกเราทุกคน ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นลดการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลได้ง่าย ๆ ด้วยแนวทางเหล่านี้
- เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น หลอด ช้อนส้อมพลาสติก ถุงพลาสติก
- ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ทดแทนพลาสติกได้และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง เช่น การพกแก้วหรือขวดน้ำส่วนตัว การใช้กระเป๋าผ้า ช่วยลดขยะทะเลประเภทพลาสติกได้เป็นอย่างดี
- งดใช้ยาสีฟันหรือครีมอาบน้ำที่มีส่วนผสมของ Microbeads เพราะ Microbeads ก็คือพลาสติกประเภทหนึ่ง แม้จะมีขนาดเล็กมาก แต่เมื่อรวมกันเป็นเวลานาน ก็กลายเป็นพลาสติกจำนวนมากได้เช่นกัน
- เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ที่มีบรรจุภัณฑ์ทำจากกระดาษ จะสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
- เช่าหรือแชร์สิ่งของแทนการซื้อใหม่ เพราะในกระบวนการผลิตสิ่งของหลายประเภท ก่อให้เกิดขยะพลาสติกได้
- แยกขยะจนเป็นนิสัย เพื่อให้ขยะได้รับการกำจัดและการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี
- ร่วมผลักดันกฎหมายเพื่อการลดขยะทะเล สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
บริษัทตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมกับบทบาทการลดมลพิษในทะเล
หากคุณเป็นผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม และต้องการมั่นใจว่าโรงงานของคุณได้มาตรฐาน ไม่สร้างความเสียหายหรือก่อมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง ควรหมั่นตรวจวัดคุณภาพน้ำกับบริษัทตรวจสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานเป็นประจำ เพื่อป้องกันการปล่อยขยะ น้ำเสียหรือสารปนเปื้อนลงสู่ทะเล เพราะสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำได้
อย่าปล่อยให้มลพิษทางน้ำทำลายระบบนิเวศและสุขภาพของคนและสัตว์จนยากที่จะเยียวยา มองหาบริการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานและมีประสบการณ์ เลือก Health & Envitech เรามาพร้อมกับบริการรับตรวจสอบคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมครบวงจร พร้อมให้คำปรึกษาวิธีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระดับสากล ติดต่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของเราได้ที่เบอร์ 0-2952-6305-9